ทอรีนคืออะไร?
ทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แม้ว่าในมนุษย์ร่างกายจะสามารถสังเคราะห์ทอรีนได้เอง แต่ในสัตว์เลี้ยงอย่างแมว ร่างกายไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารโดยตรง ในสุนัข แม้จะสามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่ก็มีกรณีของสุนัขพันธุ์ใหญ่บางพันธุ์ที่อาจเกิดภาวะบกพร่องทอรีนได้
ทอรีนดีต่อสัตว์เลี้ยงอย่างไร?
สำหรับแมว
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความต้องการทอรีนในระดับสูง เนื่องจาก :
การมองเห็นและสุขภาพตา : แมวจำเป็นต้องมีการมองเห็นที่คมชัดในการล่าเหยื่อ ทอรีนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของเรตินา** หากแมวขาดทอรีนอาจทำให้เกิดปัญหาสายตาและความผิดปกติของจอประสาทตาได้
การทำงานของหัวใจ : แมวที่ได้รับทอรีนในปริมาณที่เพียงพอมักจะมีหัวใจที่แข็งแรง เนื่องจากทอรีนช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
ระบบประสาทและสมอง : ทอรีนช่วยในการส่งสัญญาณประสาทและรักษาสมดุลของเซลล์ประสาท ทำให้แมวมีพฤติกรรมที่สมดุลและสามารถรับมือกับความเครียดได้
พัฒนาการและการสืบพันธุ์ : ทอรีนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสุขภาพในช่วงวัยเจริญเติบโตและส่งเสริมสุขภาพการสืบพันธุ์ในแมว
สำหรับสุนัข
แม้ว่าสุนัขจะสามารถสังเคราะห์ทอรีนขึ้นมาเองได้ได้ แต่สุนัขพันธุ์ใหญ่บางพันธุ์ เช่น นิวฟาวแลนด์, บ็อกเซอร์ และอเมริกัน ค็อกเกอร์สเปเนียล อาจเกิดภาวะบกพร่องทอรีนได้ ซึ่งมักเกิดจากโรค ซิสทีนยูเรีย* (Cystinuria) ที่ขัดขวางการดูดซึมกรดอะมิโน เมื่อร่างกายขาดทอรีนเป็นเวลานาน อวัยวะสำคัญโดยเฉพาะหัวใจจะทำงานบกพร่อง ส่งผลให้เกิดโรค กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ แต่ก็มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์สำคัญของทอรีนในร่างกายน้องหมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Animal Physiology เมื่อปี 2003 ผลดีที่ได้รับมีดังนี้ :
ควบคุมการเต้นของหัวใจ : ทอรีนช่วยให้หัวใจทำงานอย่างเป็นปกติ โดยส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย
ควบคุมการส่งผ่านแคลเซียม : ควบคุมการส่งผ่านแคลเซียมเข้าออกระหว่างเซลล์ ช่วยให้เซลล์ทำงานได้อย่างถูกต้อง
การทำงานของสารสื่อประสาท : ดูแลและกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาท
ต้านอนุมูลอิสระ : ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยมที่มีส่วนช่วยในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคเบาหวาน และความเสียหายต่อจอประสาทตา
วิธีดูแลให้สัตว์เลี้ยงได้รับทอรีนเพียงพอ
1. เลือกอาหารที่มีคุณภาพ
สำหรับแมว: ควรเลือกอาหารแมวที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ และมีการเติมทอรีนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาสายตาและหัวใจ
สำหรับสุนัข: เลือกอาหารที่มีสูตรครบถ้วนและมีการระบุการเติมทอรีนไว้ในฉลาก
2. ปรึกษาสัตวแพทย์
หากกังวลว่าสัตว์เลี้ยงอาจไม่ได้รับทอรีนเพียงพอ ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนอาหารหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
3. สังเกตอาการเปลี่ยนแปลง
ตรวจสอบพฤติกรรมและสุขภาพทั่วไปของสัตว์เลี้ยง หากพบอาการอ่อนเพลีย ปัญหาหัวใจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
ทอรีนเป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นแมวหรือสุนัข
สำหรับแมว : ทอรีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการมองเห็นที่ดี การทำงานของหัวใจ และการส่งสัญญาณประสาท เนื่องจากแมวไม่สามารถสังเคราะห์ทอรีนได้เอง ควรได้รับจากอาหารที่มีคุณภาพ
สำหรับสุนัข : แม้สุนัขจะสามารถสังเคราะห์ทอรีนได้ แต่ในบางพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องทอรีน การได้รับทอรีนจากอาหารยังคงมีความสำคัญในการดูแลสุขภาพหัวใจและระบบประสาท
การดูแลสัตว์เลี้ยงไม่เพียงแค่การให้ความรักและเอาใจใส่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีชีวิตที่มีคุณภาพในทุกๆ วัน
ความรู้เพิ่มเติม
"เรตินา" คือชั้นเนื้อเยื่อบางๆ ที่อยู่บริเวณด้านหลังของลูกตา ทำหน้าที่รับแสงและแปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณประสาทที่ส่งต่อไปยังสมองเพื่อให้เราเห็นภาพ โดยเรตินาประกอบด้วยเซลล์รับแสงหลักๆ คือ
Rod cells : ช่วยให้มองเห็นในที่แสงน้อย
Cone cells : ช่วยให้มองเห็นสีและรายละเอียดในที่มีแสง
การทำงานของเรตินามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมองเห็น หากเกิดปัญหาหรือโรคที่เกี่ยวกับเรตินา เช่น การเสื่อมสภาพของเรตินา ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็นและความสามารถในการรับรู้ภาพต่างๆ ได้
โรคซิสทีนยูเรีย (Cystinuria) คือภาวะทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการดูดซึมกรดอะมิโนบางชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะกรดอะมิโนที่ชื่อว่า "ซิสทีน" เมื่อร่างกายไม่สามารถดูดซึมซิสทีนได้อย่างเหมาะสม ซิสทีนที่ถูกขับออกทางปัสสาวะจะสะสมและทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรือไตได้
สำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ใหญ่บางพันธุ์ โรคซิสทีนยูเรียอาจมีผลข้างเคียงที่รบกวนการดูดซึมกรดอะมิโนอื่นๆ เช่น ทอรีน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหัวใจและระบบอื่นๆ ได้
ข้อมูลอ้างอิง :
ข้อมูลจาก Facebook : Intervetta