โรค FIP ในแมวคืออะไร เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร ?


"โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ" เป็นหนึ่งในโรคที่เป็นฝันร้ายของคนเลี้ยงแมว ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรครุนแรง ติดต่อกันได้ผ่านทางอุจจาระ จึงแพร่กระจายผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน อย่างกระบะทราย ทาสแมวที่เลี้ยงแมวหลายตัว แล้วมีแมวตัวใดตัวหนึ่งเป็นโรคนี้ ควรแยกออกจากแมวตัวอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยง

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (FIP) ในแมวคืออะไร เกิดจากอะไร  ?

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis หรือ FIP) คือ โรคติดต่อในแมว ที่เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัส Feline enteric coronavirus (FCov) มักเกิดในแมวเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี และแมวที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป  

โดยปกติแล้ว เชื้อ FCov นี้ จะติดต่อกันได้ง่าย ในระยะที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์และก่อโรครุนแรง ทำให้สามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางการสัมผัสอุจจาระของแมว หรือการใช้ของร่วมกัน อย่างกระบะทรายแมว ซึ่งพบบ่อยในบ้านหรือสถานที่ที่เลี้ยงแมวจำนวนมาก ที่มีสภาพแวดล้อมไม่สะอาด หรือทำให้แมวเกิดความเครียด 

ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น อายุของแมว สุขภาพ ความรุนแรงของเชื้อไวรัสที่ได้รับ 

การติดเชื้อและอาการที่พบบ่อย

เจ้าของแมวสามารถสังเกตความผิดปกติของน้องแมวได้ง่าย ๆ ซึ่งอาการจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ แต่ก็อาจพบทั้งสองแบบในแมวตัวเดียวกันก็ได้ ดังนี้ 

  1. ติดเชื้อแบบแห้ง (Non-effusive form) เป็นการติดเชื้อที่สังเกตค่อนข้างยาก แต่มักจะพบก้อนแข็ง ๆ ในร่างกายที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นแบบช้า ๆ โดยอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไป ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด 
  2. ติดเชื้อแบบเปียก (Effusive form) เป็นอาการที่สังเกตได้ง่ายกว่า โดยจะมีของเหลวคั่งอยู่บริเวณช่องท้องและช่องอก ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก หรือหายใจไม่ค่อยสะดวก บริเวณท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นจนผิดสังเกต 

อาการที่พบบ่อยในแมวที่ติดเชื้อ FIP

  • น้ำหนักลด 
  • เบื่ออาหาร 
  • ชักม่านตาอักเสบ
  • ดวงตาผิดปกติ 
  • ซึม 
  • มีไข้ 
  • เดินไม่สัมพันธ์กัน 

การวินิจฉัยและรักษา

หากพบว่าน้องแมวมีอาการผิดปกติ อย่างการมีก้อนที่ช่องท้อง ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องใหญ่ หายใจลำบาก ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดเพิ่มเติม 

การวินิจฉัยโรค

ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะทำการตรวจเลือด เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าโปรตีน การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรค FIP การวิเคราะห์น้ำในช่องท้องและช่องอก อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะดูอาการและแนะนำการตรวจรักษาที่เหมาะสม อาจจะต้องตรวจหลากหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด และวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มี วิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงไปที่โรค FIP แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ อย่างการให้ยาลดอักเสบ ยาต้านเชื้อไวรัส และในกรณีที่มีน้ำในช่องท้องหรือช่องอกก็จะทำการเจาะระบายน้ำออกมา ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจจะต้องถ่ายเลือด 

การป้องกัน  

ทาสแมวทั้งหลายที่ไม่อยากจะสูญเสียน้องแมวไปเพราะโรค FIP สามารถป้องกันโรคชนิดนี้ได้ 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้ 

ฉีดวัคซีนป้องกันโรค FIP

ปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรค FIP ในแมว ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น (Modified live non - adjuvant) แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่ได้เป็นวัคซีนตัวหลัก และยังมีการถกเถียงถึงเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือตรวจเลือดก่อนที่จะทำวัคซีน หากว่าไม่พบเชื้อ FIP ก็สามารถทำวัคซีนได้ 

วิธีลดความเสี่ยงการติดเชื้อ FIP

แม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ 100% และมีประสิทธิภาพ แต่ทาสแมวก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ดังนี้ 

  • เลี้ยงแมวระบบปิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสจากแมวตัวอื่น หากว่าไม่สามารถเลี้ยงระบบปิดได้ แนะนำให้ช่วงที่ยังเป็นลูกแมว ภูมิคุ้มกันยังน้อย ให้เลี้ยงภายในบ้านก่อน เพื่อลดความเสี่ยง 
  • ทำวัคซีนหลักให้ครบและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัยของแมวเป็นประจำ ทั้งที่นอน จานชาม และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงกระบะทราย 
  • แยกจุดที่วางน้ำและอาหารออกจากจุดที่วางกระบะทราย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในชามอาหาร 
  • ไม่ควรเลี้ยงแมวจำนวนมากในพื้นที่จำกัด ควรให้น้องแมวแต่ละตัวมีพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง 
  • ตรวจสุขภาพ ถ่ายพยาธิ และฉีดวัคซีนประจำปีเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง   

อาการเจ็บป่วยของน้องแมว ในบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ทาสแมวไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถให้การดูแลน้องแมวอย่างดี เพื่อเสริมสร้างสารอาหารที่จำเป็นและบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ที่ PETClub อาณาจักรสินค้าสัตว์เลี้ยง มีอาหารแมวป่วยให้เลือกซื้อตามความต้องการ เป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ช่วยให้ทาสแมวสามารถดูแลน้องแมวได้อย่างเต็มที่ สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ มีบริการจัดส่งทั่วประเทศ 

 

ดูอาหารแมวเพิ่มเติม “คลิก” 

 

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. FIP แมว คือ โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 จาก https://www.baanlaesuan.com/315142/pets/health/cat-infected-fip 
  2. โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 จาก https://www.royalcanin.com/th/cats/kitten/feline-infectious-peritonitis 
  3. รู้จักกับโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (FIP).  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 จาก https://www.utmost-pet.com/articles/feline-infectious-peritonitis-cat/ 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  และ  นโยบายคุกกี้